วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2567

เราในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด

 ในภาวะถดถอยของชีวิต ที่เราล้วนเคยประสบ ย่อมเป็นช่วงเวลาที่ เครียด, เหนื่อยหน่าย, เบื่อ, ท้อ, ผิดหวัง หรือ เสียใจ ภาวะต่าง ๆ เหล่านี้ที่เชื่อว่า “เรา ไม่อยากเป็นแบบนั้น” ซึ่งถ้ามองเห็นตัวเองได้ ก็คงอยากเป็น “ตัวเราในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด” มากกว่า

ก่อนอื่นคงต้องขออภัยกับบทความที่ใช้คำว่า เวอร์ชั่น (Version) ที่แปลว่า แบบ, รุ่น, ฉบับ ที่เมื่อเขียนแล้ว… เราในแบบที่ดีที่สุด, เราในรุ่นที่ดีที่สุด, เราในฉบับที่ดีที่สุด แม้จะพอเข้าใจได้ แต่ในปัจจุบันที่เป็นยุคดิจิตอล คำว่าเวอร์ชั่น น่าจะทำให้เข้าใจเห็นภาพกันได้ไม่ยาก

อารัมภบทอีกสักนิด(อ่านข้ามย่อหน้านี้เสียก็ได้) อันที่จริงบทความในหมวดหมู่นี้ต้องการเขียนให้เป็นแบบไม่จำกัดเวลา (timeless) คืออ่านเมื่อใด หรือปีไหนก็ได้ แต่ในช่วงโควิด-19 ที่รอบศตวรรษน่าจะมีวิกฤติแบบนี้สักครั้งมันส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คนมากมาย โดยอย่างยิ่งในด้านจิตใจ บทความนี้จึงมีส่วนอย่างมากจากการที่เห็นผู้คนมากมายได้รับผลจากวิกฤตินี้มา

ทุกวันนี้หลายคนยังแย่อยู่กับภาวะที่ “ไม่เหมือนเดิม” ไม่ว่าจะจากต้นเหตุใดก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เราอาจไม่ทันคิดหรือไม่เคยคิดคือ ภาวะอารมณ์ถดถอยที่เราเป็นอยู่นี้ มันยากที่จะแก้ไขปัญหา หรือยากที่จะมีอารมณ์สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นมาได้ บนความไม่แน่นอน กับปัจจัยแย่ ๆ ที่ผ่านมาทำให้หลายคน บ้างก็ใช้ชีวิตไปวัน ๆ บ้างก็หาเพียงความสุขแบบหนีความจริง, แบบฉาบฉวยบ้าง, ซังกะตายบ้าง แต่ที่สำคัญคือหลายคน “หมดความมั่นใจ” ต่อทั้งความสามารถในตัวเองและสิ่งรอบตัว

แต่เมื่อลองหยุด… ทบทวนอีกด้าน ก็เชื่อว่าเราทุกคนต้องมีช่วงเวลาที่ภาคภูมิใจ ในแนวที่เรียกว่า ทำอะไรก็ดีไปหมด มีความมั่นใจ, ความทะเยอทะยาน, กล้าได้กล้าเสีย ไม่หวาดหวั่นอุปสรรค ไปจนถึง “ล้มก็ไม่เจ็บ” ในช่วงเวลาเหล่านั้นที่มักเรียกว่าช่วง “รุ่ง” ของชีวิต

ซึ่งหากทบทวนและจำช่วงเวลานั้นได้ อยากให้ลองนึกดูว่า แล้ว “ทำไมเราไม่กลับไปเป็นเราในตอนนั้น?” หรือ “ตอนนั้นเรามีความคิดหรือรู้สึกแบบไหนกันนะ” รวมแล้วคือ เราเคยเป็นคนที่ดีกว่านี้ เราเคยเก่งกว่าวันนี้ เราเคยทำได้มาแล้ว ทำไมเราไม่กลับไปเป็นเราในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดล่ะ?…

คงบอกไม่ได้ว่า “ตอนนั้น” ของแต่ละคนต้องเป็นอย่างไร คิดอย่างไร ทำอย่างไร แต่เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่เราต่างมีคือ “ความมั่นใจ” และ “ความเชื่อ” ในตัวเอง เหมือนเป็นไฟดวงหนึ่งภายใต้จิตใจที่เราทุกคนย่อมมี วันนี้มันเพียงดับไป ถูกหลงลืม กลืนหาย ลดค่าลงไป ด้วยภาวะ ปัจจัย ผลลัพธ์ที่ผิดพลาดใด ๆ ก็ตามในอดีตที่ผ่านมา หรือ เราในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด อาจเคยต้องมีตัวช่วย เป็นสิ่งแวดล้อมแบบหนึ่ง เป็นใครคนหนึ่ง หรือปัจจัยใดก็ตาม อย่างน้อยก็ทำให้เรารู้ว่าอะไรที่มันขาดหายไป อะไรที่ต้องการเติมเต็มในตอนนี้…

หากยังนึกไม่ออก ให้ลองจินตนาการภาพเด็กที่ไม่กลัวฝน ไม่กลัวเปียก กลับมองฝน มองการเปียกปอนเป็นเรื่องสนุกสนานด้วยซ้ำไป ช่างต่างกับวัยผู้ใหญ่ที่บางทีทำน้ำหกใส่เสื้อไม่กี่หยดก็หมดความมั่นใจได้แล้ว เด็กคนนั้นอาจเป็นเราในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดก็เป็นได้

เขียนบทความนี้ไป ก็ยังแอบคิดตามไปพร้อมกันได้ว่า มันใช้ได้กับแทบทุกเรื่องที่เรากำลังแย่ เพียงแค่คิดย้อนไป ถ้าเป็นเราในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด เราคิดอย่างไร เราตัดสินใจอย่างไร เราทำตัวอย่างไร อะไรทำให้เรามั่นใจในสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น?

เช่นนี้แล้ว ทันทีที่เรากำลังท้อแท้ ย่ำแย่ ถดถอย เพียงลองระลึกดูว่า ถ้าเราในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดกำลังอยู่ในสถานการณ์นี้ เราจะคิด, จะทำ, จะเป็นอย่างไร? หรือ บางทีเรื่องแย่ ๆ เหล่านี้ มันไม่สำคัญอะไรต่อ “เราในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด” เลย…

วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2567

ความรัก กับ ชีวิตคู่

ถ้าบอกว่า “ชีวิตคู่ มันไม่ใช่แค่รักกัน” คนที่เคยผ่านประสบการณ์อะไรมาบ้างย่อมพยักหน้า หรือ ประโยคที่ว่า “พออยู่ด้วยกัน มันไม่เหมือนแค่ตอนเป็นแฟนกัน” อาจทำให้พอเข้าใจบางอย่างได้ดีขึ้น…

นี่ไม่ใช่เรื่องที่ดูมีประโยชน์ หรือ น่าสนใจอะไรกับผู้ที่ “เคยผ่านภาวะต้องเข้าใจ” มาแล้ว แต่คนที่ไม่เคยหรือย้อนนึกไปตอนที่เรายังไม่เจอเหตุการณ์ ประสบการณ์ หรือบทเรียนที่ทำให้เราเข้าใจ มันเป็นเรื่องที่ยากจะมองเห็นหรือรู้ตัวได้ในตอนนั้น…

หลายคู่แรกเริ่มคบกันต่างเคยมีเวลาให้กัน ได้คลุกคลีอยู่ด้วยกัน แต่ทุกอย่างมีเวลา มีขั้น มีภาวะของมัน และบนคำว่า “ชีวิตคู่” นั้นก็สรุปยากว่ามันเริ่มตรงไหน ส่วน “ชีวิตรัก” นั้นมันต่างกันอย่างไร อยู่ด้วยกันไม่ต้องรักกันแล้วงั้นหรือ อะไรคือความต่าง?

ช่วงที่ดีที่สุดของการคบกัน

ผมจำเหตุการณ์หนึ่งได้ดี ที่เป็นครั้งแรกทำให้ฉุกคิดมุมนี้ ตอนนั้นเป็นสมัยเรียนมัธยม จำไม่ได้ว่าบทสนทนานี้เริ่มจากตรงไหน แต่มีเพื่อนคนหนึ่งถามครูคณิตศาสตร์ (ผู้หญิงสถานะโสด) ว่าทำไมครูยังไม่แต่งงาน (ที่จริงก็แอบซุปซิบกันว่าครูคนนี้คบกับครูอีกท่านหนึ่งอยู่) ครูตอบว่า “แต่งทำไม มีแต่แฟนนี่ดีที่สุดแล้ว…” ครูพูดไปยิ้มไปอธิบายทำนองว่า ภาวะเป็นแฟน เราจะงอนเขาก็ง้อ อยากได้อะไรเขาก็จะตามใจ ยิ่งตอนมาจีบ ได้ทุกอย่าง ครูพูดเหมือนติดตลกว่า “ไม่แต่งหรอกมีแฟนไปเรื่อย ๆ ดีกว่า” เพื่อนร่วมชั้นส่วนใหญ่ก็คล้อยตามถึงข้อดีรวมถึงผม ทั้งที่ในเวลานั้นเราล้วนไม่มีประสบการณ์อะไรเรื่องเหล่านี้กันมากนัก

ยากจะปฏิเสธว่านี่คือช่วงที่ดีที่สุดของการคบกัน อาจสรุปไม่ได้ทางภาษาว่าช่วง “เป็นแฟน” เพราะเราใช้คำว่า “แฟน” ได้ในทุกสถานะ แต่คงเข้าใจไม่ยากว่าคือช่วง “ใหม่ ๆ” ซึ่งก็ตัดสินไม่ได้อีกต่างหากว่า “ยังใหม่” ใช้เวลานานเท่าใด บางคู่ เพียงเดือนเดียว บางคู่เป็นปี อยู่ที่การใช้เวลา การมีระยะต่อกัน และนิสัยใจคอของแต่ละฝ่าย

ช่วงเวลาที่ดีที่สุด คือช่วงเวลาที่อันตรายที่สุด”

แต่ช่วงนี้คือช่วงที่ต่างทั้งมีอารมณ์ลุ่มหลง ต่างดื่มด่ำ ต่างมองแต่สิ่งดี ๆ ต่างพร้อมที่จะให้ และยอม ซึ่งหากพิจารณาแล้วสิ่งที่แสดงออกในตอนนั้นมีหลายเรื่องที่อาจเป็นสิ่งชั่วคราว และนั่นจึงทำให้ช่วงเวลาที่ดีที่สุด คือช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดด้วยเช่นกัน

ชีวิตรัก กับ ชีวิตคู่

กล่าวกันแบบไม่คิดมากทางข้อจำกัดของภาษา “ชีวิตรัก” คือการใช้ชีวิตร่วมกันในช่วงภาวะที่มีอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวข้องสูงและเพิ่งคบกันไม่นาน ส่วน “ชีวิตคู่” คือการใช้ชีวิตในภาวะที่ปกติแบบชีวิตต้องดำเนินไป ใช่ว่าสองแบบนี้จะแยกกันขาดชัดเจนหรือเป็นขั้วตรงข้ามกัน แต่น้ำหนักของบางอย่างจะเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนไปได้เสมอ

ช่วงชีวิตรัก : เหตุผล และปัจจัย ของตัวเราจะน้อยกว่าหรือบางทีแทบจะไม่มีเลย ลืมไปเลย พร้อมจะยอม จะมอบ จะแบ่งให้เขา ความสำคัญของเรื่องอื่น/คนอื่นดูจะน้อย

ช่วงชีวิตคู่ : จะเต็มไปด้วยเหตุผล ปัจจัยที่จำเป็น เริ่มต้องการบางสิ่งมากขึ้น หรือคาดหวังบางอย่างจากอีกฝ่ายเหมือนเดิม แต่ฝ่ายตัวเองไม่สะดวกมอบให้เท่าเดิม ความสำคัญเรื่องอื่น/คนอื่น เริ่มมีมาก

ภาระผูกพันต่อคำว่า “สม่ำเสมอ” หรือ “เปลี่ยนไป”

นี่คือภาพรวม ๆ ที่ดูแล้วชีวิตคู่ดูแย่จังเลย แต่หากพิจารณามันอาจไม่ใช่และควรจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะชีวิตรักเป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” ของชีวิตอยู่แล้ว เป็นช่วงหนึ่งที่เราให้เวลาให้น้ำหนัก ให้ความสำคัญกับความรักไปมาก การเปลี่ยนแปลงที่ตามมาอาจทำให้เราหรืออีกฝ่ายรับไม่ได้ เมื่อถูกเปรียบเทียบกับช่วงเวลาอื่น หรือเวลาผ่านไป มันย่อมต่างกันสิ้นเชิง ถึงได้กล่าวว่า “อันตราย” เพราะยิ่งสร้างไว้ ยิ่งให้ไว้ ยิ่งสัญญา ยิ่งส่งมอบ มันอาจหมายถึงภาระผูกพันต่อคำว่า “สม่ำเสมอ” หรือ “เปลี่ยนไป” ซึ่งหากโชคดีเจอคนที่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงปัญหาคงน้อยหรือยากจะเกิด

หากมองกันมุมหนึ่ง เมื่อเรามีเป้าหมาย ในที่นี้อาจหมายถึงแฟน/คนรัก จึงมุ่งให้ได้มา พยายามทำให้ดี ย่อมต้อง Focus ทุ่มเท ใส่ใจ เมื่อได้มาแล้ว ธรรมชาติคนเราก็ควรไปทุ่มเท ใส่ใจให้เรื่องอื่นบ้าง เพราะชีวิตไม่ได้มีด้านเดียว

แต่แม้จะ “ด้านเดียว” แต่ก็เป็น “ด้านหนึ่ง” ที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงแบบแตกต่างไปโดยสิ้นเชิงย่อมสร้างปัญหา ไม่ว่าจะแค่การปฏิบัติต่อกัน หรือ บุคลิกนิสัยที่ไม่เคยรู้ไม่เคยแสดง ภาระหน้าที่ที่ซ่อนเร้น ไปจนถึง เป้าหมายของชีวิตที่แตกต่างกันโดยที่ไม่เคยได้แชร์หรือพูดคุยกัน ซึ่งเรื่องเหล่านี้กำลังหมายถึง “ชีวิตหนึ่ง”


“ทำไมเธอไม่ส่งเสริมฉัน? ทำไมเธอต้องถ่วงฉัน? ทำไมเธอถึงเอาแต่ใจ?” อะไรทำนองนี้คือปัญหาปลายเหตุ… “สมัยเป็นแฟนกันเหมือนงานจะไม่เคยมาก่อน?” ข้อเท็จจริงในใจอาจเป็น “ก็เรื่องแฟนสำเร็จแล้ว เรื่องงานก็ควรจะสำเร็จด้วย” หากฝ่ายหนึ่งมองว่าความสัมพันธ์ต้องมาก่อน และอีกฝ่ายมองว่า หน้าที่การงานก็สำคัญต่อชีวิต กล่าวเช่นนี้เราอาจเห็นในเหตุผล หรือ “ต้นตอ” ของปัญหา แต่ภาวะจริงเรามักไม่ได้พูดกันในจุดนี้ มันเริ่มระหองระแหงกันง่ายกว่านั้น แค่มีเวลาให้น้อยลง โทรไป/ส่งข้อความไป แล้วตอบไม่รวดเร็วอย่างเคย นำพาไปทะเลาะกันไปเรื่องอื่นบานปลาย…

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียว และเป็นเพียงหนึ่งในต้นตอมุมคิดที่แตกต่าง เมื่อ “ชีวิตหนึ่ง” ต้องร่วมกับอีกชีวิตหนึ่ง ด้านรัก ที่หันหากันได้แล้ว ต้องต่อสู้กับ ด้านชีวิตอีกหลายด้าน ทั้งภาระ ปัจจัย เป้าหมาย ที่สำคัญ “ความเปลี่ยนแปลง” ทั้งดี ทั้งร้าย ทั้งจากเรา ทั้งจากเขา ทั้งจากสังขาร…

หากบรรยายหรือยกตัวอย่างทุกปัจจัยความเป็นไปได้ ลงรายละเอียดคงเขียนได้เป็นเล่ม ๆ แต่ขมวดปมลงไปมันอาจรวมได้ว่า “ช่วงชีวิตรักเราอาจมีเป้าหมายเดียว” มันจึงดูดี ดูง่าย (ถ้าแค่เริ่มดูไม่ดีดูยาก ก็เสี่ยงกันเอานะ) แต่ช่วงชีวิตคู่ เป้าหมายมากขึ้น ทั้งของเรา ทั้งของเขา เป้าหมายมาก ภาระมาก ปัจจัยมาก องค์ประกอบมาก ตัวละครมาก ยิ่งอยู่ไป การเปลี่ยนแปลงยิ่งมาก บนการตัดสินใจ… ที่มีอีกคนเกี่ยวข้อง ถ้าเข้าใจง่าย ก็ตัดสินใจง่าย ถ้าไม่ยอมเข้าใจ ก็ยาก ถ้าเอาแต่ฝ่ายตัวเอง ก็พัง มันก็เท่านี้จริง ๆ

เพราะการได้มา เราอาจมองว่ายาก แต่การรักษาให้อยู่ตลอดไป ยากกว่าเสมอ…